อุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน

ปัญหาความน่าท้าทายในการจัดการเรียนการสอน คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างความคุ้มทุน (cost effective) และคุณภาพในการเรียนการสอน (quality of teaching and learning) โดยยังคงสามารถตอบสนองความหลากหลายของผู้เรียน (learner difference) ได้ปัญหาในการดำเนินการสามารถประมวลได้เป็น 3 กรอบใหญ่ คือ ด้านประสิทธิภาพ (Effect) ด้านอารมณ์ความรู้สึก (Affect) และด้านความพยายามในการดำเนินกิจกรรม (Effort) ซึ่งจากการศึกษาของ McLeod (1989) พบว่าจากเหตุผลทั้งหมด 333 ประการที่คณาจารย์อ้างถึง เป็นประเด็นปัญหาจากเรื่องประสิทธิภาพการสอน รวมความถี่มากถึง 144 หรือ 43.3% คณาจารย์แสดงความคิดเห็นในเรื่องอุปสรรคการสอนชั้นเรียนขนาดใหญ่ที่สะท้อนจากเรื่องความพยายามดำเนินการมากขึ้นกว่าการสอนในชั้นเรียนปกติ 110 หรือ 33% และอุปสรรคที่สะท้อนแง่มุมในเรื่องอารมณ์ คือ 79 หรือ 23.7% อุปสรรคที่ผู้สอนมีความกังวล คือความไม่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการจัดกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนขนาดใหญ่ได้ดีเท่าชั้นเรียนที่เคยได้สอน ซึ่งอาจสะท้อนได้จากบันทึกของอาจารย์ท่านหนึ่งดังนี้

“พรุ่งนี้จะต้องสอนห้องเรียนขนาดใหญ่ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร คิดว่าไม่น่าจะสอนได้ แต่ทำอย่างไรได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้เนื่องจากเป็นนโยบายมหาวิทยาลัย และเราก็ได้รับมอบหมายให้สอนในเทอมนี้ เรารู้สึกว่าอาจต้องมีปัญหาอุปสรรคมากมาย และผู้เรียนอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ในชั้นเรียนขนาดใหญ่ เราจะจัดกิจกรรมอย่างไร เราจะจำชื่อผู้เรียนได้หรือไม่ เราจะตรวจสอบการเข้าเรียนได้อย่างไร เราจะจัดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูดโต้ตอบอย่างไร เราจะควบคุมชั้นเรียนอย่างไร เราจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไร”

(บันทึกครู อ้างถึงโดย Boonmoh, 2005: 14)

ที่มา : สุมาลี  ชิโนกุล