อุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน

ปัญหาความน่าท้าทายในการจัดการเรียนการสอน คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างความคุ้มทุน (cost effective) และคุณภาพในการเรียนการสอน (quality of teaching and learning) โดยยังคงสามารถตอบสนองความหลากหลายของผู้เรียน (learner difference) ได้ปัญหาในการดำเนินการสามารถประมวลได้เป็น 3 กรอบใหญ่ คือ ด้านประสิทธิภาพ (Effect) ด้านอารมณ์ความรู้สึก (Affect) และด้านความพยายามในการดำเนินกิจกรรม (Effort) ซึ่งจากการศึกษาของ McLeod (1989) พบว่าจากเหตุผลทั้งหมด 333 ประการที่คณาจารย์อ้างถึง เป็นประเด็นปัญหาจากเรื่องประสิทธิภาพการสอน รวมความถี่มากถึง 144 หรือ 43.3% คณาจารย์แสดงความคิดเห็นในเรื่องอุปสรรคการสอนชั้นเรียนขนาดใหญ่ที่สะท้อนจากเรื่องความพยายามดำเนินการมากขึ้นกว่าการสอนในชั้นเรียนปกติ 110 หรือ 33% และอุปสรรคที่สะท้อนแง่มุมในเรื่องอารมณ์ คือ 79 หรือ 23.7% อุปสรรคที่ผู้สอนมีความกังวล คือความไม่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการจัดกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนขนาดใหญ่ได้ดีเท่าชั้นเรียนที่เคยได้สอน ซึ่งอาจสะท้อนได้จากบันทึกของอาจารย์ท่านหนึ่งดังนี้

“พรุ่งนี้จะต้องสอนห้องเรียนขนาดใหญ่ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร คิดว่าไม่น่าจะสอนได้ แต่ทำอย่างไรได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้เนื่องจากเป็นนโยบายมหาวิทยาลัย และเราก็ได้รับมอบหมายให้สอนในเทอมนี้ เรารู้สึกว่าอาจต้องมีปัญหาอุปสรรคมากมาย และผู้เรียนอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ในชั้นเรียนขนาดใหญ่ เราจะจัดกิจกรรมอย่างไร เราจะจำชื่อผู้เรียนได้หรือไม่ เราจะตรวจสอบการเข้าเรียนได้อย่างไร เราจะจัดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูดโต้ตอบอย่างไร เราจะควบคุมชั้นเรียนอย่างไร เราจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไร”

(บันทึกครู อ้างถึงโดย Boonmoh, 2005: 14)

ที่มา : สุมาลี  ชิโนกุล

 

6 Replies to “อุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน”

  1. ปัญหาใหญ่ที่พบบ่อยๆ เมื่อต้องสอนในชั้นเรียนขนาดใหญ่คือการสอนวิชาคำนวณที่จะต้องให้นักศึกษาทุกคนเข้าใจและคำนวณได้ ซึ่งชั้นเรียนขนาดใหญ่ไม่ค่อยเหมาะกับวิชาคำนวณ

  2. อุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนขนาดใหญ่ที่พบคือ การทำให้นักศึกษาทั้งหมดจดจ่อและสนใจในสิ่งที่ผู้สอนต้องการนำเสนอตั้งแต่ต้นจนจบการเรียนการสอน ดังนั้นผู้สอนจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การสอนเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ในการสอนเนื้อหาเดียวกัน ถ้าเป็นห้องเรียนขนาดเล็ก ผู้สอนอาจจะใช้การสอนแบบ Two-way communication มีการถาม-ตอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือการทำกิจกรรมกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แต่กิจกรรมนี้จะเกิดขึ้นได้ยากในห้องเรียนขนาดใหญ่ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่น การใช้สื่อการสอนหลากหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดความสนใจของนักศึกษา เป็นต้น

  3. การสอนในชั้นเรียนใหญ่มีอุปสรรค คือ ดูแลและให้ความสนใจนักศึกษาได้ไม่ทั่วถึง ระดับความสามารถในการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน และนักศึกษาจำเป็นต้องมีการทบทวนบทเรียนก่อนและหลังเรียน เพื่อให้เข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น

  4. ห้องเรียนขนาดใหญ่ จะมีนักศึกษาจำนวนมากและหลากหลายทั้งระดับความรู้ ความตั้งใจ การที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจในเนื้อหาการสอนได้ทุกคนจึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม การคอยติดตามและสังเกตพฤติกรรมของนักศึกษาระหว่างเรียนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากเริ่มเห็นว่าเริ่มมีการส่งเสียงดังหรือง่วงนอน ควรมีเทคนิคในการกระตุ้นเรียกความสนใจ การยกตัวอย่างคำถาม หรือแบบฝึกหัด ก่อนและหลังเรียนจะช่วยประเมินความเข้าใจของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี หรือการให้โอกาสนักศึกษาเข้ามาสอบถามเพิ่มเติมหลังเวลาเรียน ก็จะช่วยให้เกิดความเข้าใจกับนักศึกษาได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่เด็กเก่งมากนัก

  5. จากการพูดคุยกับอาจารย์ที่สอนในรายวิชาที่มี นศ.ลงทะเบียนเป็นจำนวนมากพบว่า ปัญหาที่พบบ่อยคือการควบคุมชั้นเรียนให้เป็นอย่างมีความเป็นระเบียบ การเข้าชั้นเรียนที่ไม่ตรงต่อเวลา การเซ็นชื่อเข้าเรียนแทนคนอื่น ซึ่งก็มีอาจารย์หลายท่านเสนอแนวทางการแก้ไขว่าควรจะใช้การสแกนชื่อจากแถบบาร์โค๊ดทั้งตอนเริ่มและเลิกชั้นเรียน ซึ่งก็จะทำให้ประหยัดเวลาในการเชคชื่อและลดปัญหาการเซนชื่อแทนเพื่อนและออกก่อนเวลา

  6. จำนวนผู้เรียน(คน) ขนาดชั้นเรียน (Class size)
    1-19 Small
    20-33 Medium
    34-103 Intermediate
    104-211 ขึ้นไป Large
    ห้องเรียนขนาดใหญ่ (Large คือ ตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป) จะเริ่มมีผลลบต่อการเรียนรู้ของผ้เรียน เนื่องจากความสามารถในการฟังการบรรยาย จะเสื่อมถอยลงตามเวลาที่ผ่านไป ดังนั้น ควรพัก 15 นาที ทุก 45 นาทีของการเรียนการสอน
    และอาจใช้สื่อการสอนที่เป็นภาพเคลื่อนไหว (Animation) หรือจาก VDO-Clip สลับกับการฉายแผ่นสไลด์ ก็จะช่วยให้ผู้เรียนคงสภาพการเรียนรู้ได้นานกว่า (จดจำได้นานกว่า) ซึ่งผลการทดลองจริงในชั้นเรียนขนาด 500 นั่งเป็นอย่างไร จะนำมาบอกภายหลังครับ (คัดบางส่วนจาก การจำแนกขนาดชั้นเรียน ปรับจากบทความวิจัย เรื่อง “Heterogeneous Class Size Effect: New Evidence from Panel of University Students” โดย Bandiera, O. and et.al. (2010). Economic Journal.

Leave a Reply to S.a sawasdi Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *