ขั้นตอนการให้คำปรึกษา

เรียบเรียงโดย นางสาวพรพิมล จะหลู
ผู้ช่วยอาจารย์ สำนักศาสนกิจ

   ขั้นตอนการให้คำปรึกษาหรือกระบวนการให้คำปรึกษาเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้ให้คำปรึกษา ขั้นตอนการให้คำปรึกษาเปรียบเสมือนเป็นทิศทางที่ผู้ให้คำปรึกษาจะนำให้ความช่วยเหลือแก่ผู้รับคำปรึกษาสามารถไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนการให้คำปรึกษาดังนี้

1 การสร้างสัมพันธภาพ: เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง จุดประสงค์สำคัญของขั้นตอนนี้คือเพื่อสร้างความคุ้นเคย ความอุ่นใจ สบายใจ และสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้รับการปรึกษากับผู้ให้การปรึกษา ผู้ให้การปรึกษาจะต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับการปรึกษา โดยใช้เทคนิคและทักษะต่างๆ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน เช่น การทักทายสั้นๆ การพูดเรื่องทั่วไป

 2 การสำรวจปัญหา: ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องใช้ทักษะต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้รับคำปรึกษาได้บอกเล่าถึงปัญหาหรือสำรวจปัญหาและความต้องการของตนเอง ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลามากน้อยขึ้นอยู่กับพื้นฐาน สติปัญญา ความสามารถ ลักษณะนิสัยของผู้รับคำปรึกษา และความชำนาญในการใช้ทักษะของผู้ให้คำปรึกษา

3 เข้าใจปัญหา สาเหตุของปัญหาและความต้องการ: ขั้นตอนนี้เป็นหัวใจของกระบวนการให้คำปรึกษา ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาใช้ทักษะต่างๆ เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความเข้าใจอย่างกระจ่างในปัญหาของตนเองอย่างแท้จริง ตั้งแต่สาเหตุของปัญหาและความต้องการของตนเอง โดยผู้ให้คำปรึกษาจะต้องช่วยและกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษาได้คิด สำรวจความรู้สึก และความต้องการของตนเอง ให้มองเห็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานั้น

4 การวางแผนการแก้ปัญหา: ผู้ให้การปรึกษาจะต้องช่วยกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษาได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ค้นหาวิธีในการแก้ปัญหา โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย วางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน และตัดสินใจเลือกทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับการปรึกษามากที่สุด ทั้งนี้ผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรเร่งรีบและด่วนตัดสินใจจัดการปัญหาของผู้รับคำปรึกษา แต่จะคอยให้กำลังใจในการวางแผนปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก่อน (สามารถให้กำลังใจด้วยข้อพระคัมภีร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นได้) หากผู้รับคำปรึกษาหมดหนทางและคิดไม่ออก ผู้ให้คำปรึกษาจึงจะเสนอแนะแนวทาง เพื่อให้ได้พิจารณาความเหมาะสมและเลือกทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดด้วยตนเอง ซึ่งผู้รับคำปรึกษาเห็นว่าสามารถทำได้จริง มีโอกาสประสบความสำเร็จ และมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่ใช่เป็นการบังคับให้ปฏิบัติ

5 ยุติกระบวนการ: ผู้ให้คำปรึกษาควรให้สัญญาณแก่ผู้รับคำปรึกษาได้รู้ตัวก่อนสิ้นสุดการให้คำปรึกษา และเปิดโอกาสให้ผู้รับคำปรึกษาได้สรุปในสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการสนทนา จากนั้นผู้ให้คำปรึกษาจึงเพิ่มเติมในประเด็นที่ขาดหายไป ในบางครั้งผู้ให้การปรึกษาอาจมอบหมายการบ้านให้ผู้รับการปรึกษากลับไปปฏิบัติ (การให้คัดข้อพระคัมภีร์ เพื่อให้กำลังใจและสร้างความคิดในเชิงบวก) เปิดโอกาสให้ผู้รับคำปรึกษาสามารถพบได้ในครั้งต่อไปถ้าเขาต้องการ และนัดหมายเวลาที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่ผู้รับคำปรึกษาในการปฏิบัติตามที่ได้ตัดสินใจในระหว่างการให้คำปรึกษา ก่อนสิ้นสุดการให้คำปรึกษา ควรสนทนาเล็กน้อยด้วยเรื่องทั่วๆ ไป แล้วจึงกล่าวอำลา

จากขั้นตอนที่ได้กล่าวมาจะเห็นว่าในทุกขั้นตอนของการให้คำปรึกษามีจุดประสงค์ที่ชัดเจนและความสำคัญ ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาจะต้องมีความรู้และทักษะต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้รู้แลเข้าใจในปัญหาที่แท้ตลอดจนสามารถตัดสินใจเลือกวิธีการแกไข้ปัญหาที่เหมาะสมได้

อ้างอิง

จีน แบรี่, 2549, จิตวิทยาการให้คำปรึกษา, หน้า 74

1 thought on “ขั้นตอนการให้คำปรึกษา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *