ลักษณะที่ปรึกษาตามแบบคริสเตียน

นายสรพงษ์ ศรีบุญไทย
พนักงานศาสนกิจ

                 การให้คำปรึกษาแบบคริสเตียนนั้นเป็นพันธกิจของคริสเตียนผู้เชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ผู้ที่แสวงหาหนทางในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต     โดยการให้คำปรึกษานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งมาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่   ซึ่งเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต    ซึ่งในพระคริสตธรรมคัมภีร์นั้นได้บันทึกข้อมูล แนวทาง ข้อแนะนำ  และแนวปฏิบัติที่ดี    ซึ่งสอดคล้องกับการให้คำปรึกษาในประเภทต่างๆ ดังนี้ ประเภท Informative counseling คือ การปรึกษาโดยการให้ความรู้ รวมถึงวิธีปฏิบัติ หรือ การให้คำปรึกษาแบบ Directive counseling  คือ การปรึกษาโดยการชี้แนะแนวทาง หรือ แบบ Advocacy counseling คือ การปรึกษาโดยการให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเลือกทางแก้ปัญหาที่มีหลายแบบ และการให้การปรึกษาSupportive counseling คือ การประคับประคองทางจิตใจ จนสงบเพียงพอจะแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง (พนม  เกตุมาน, 2562)   ซึ่งผู้ที่ให้การปรึกษาแบบคริสเตียนสามารถนำแนวทางหรือข้อปฏิบัติไปปรับประยุกต์ใช้ได้ตามบริบท และตามความเหมาะ สม ขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหาและสถานการณ์ของผู้ที่มาขอรับคำปรึกษาแต่ละคน  ในพระธรรม 2 ทิโมธี บทที่ 3 ข้อที่ 16 เขียนไว้ว่าสามารถใช้พระคัมภีร์ในเรื่องต่างๆ ดังนี้   “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า 1) เป็นประโยชน์ในการสอน 2) ในการตักเตือนว่ากล่าว 3) การแก้ไขสิ่งผิด  4) การอบรมในความชอบธรรม”

ลักษณะที่ปรึกษาแบบคริสเตียน

ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ได้บันทึกลักษณะของที่ปรึกษาที่เป็นคริสเตียนไว้หลายประการดังปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่หลายตอน ดังนี้
           1. ลักษณะประการแรก ที่ปรึกษาแบบคริสเตียน ต้องประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และสติปัญญา         พระวิญญาณบริสุทธิ์ คือ ผู้ช่วย หรือ ที่ปรึกษาที่ดีที่สุดที่พระเจ้าประทานมาให้แก่ผู้เชื่อ ในที่ปรากฏในพระธรรมยอห์น 14:16-17 ได้กล่าวไว้ว่า “เราจะทูลขอพระบิดาและพระองค์จะประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งให้แก่ท่าน เพื่อจะได้อยู่กับท่านตลอดไป คือพระวิญญาณบริสุทธิ์แห่งความจริง ซึ่งโลกรับไว้ไม่ได้ เพราะแลไม่เห็นและไม่รู้จักพระองค์ ท่านทั้งหลายรู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสถิตอยู่กับท่าน และจะประทับอยู่ในท่าน”  เป้าหมายของการให้คำปรึกษาแบบคริสเตียนนั้นไม่ได้มุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงทัศคติของผู้รับคำปรึกษาเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่อยู่ด้านในให้เป็นชีวิตใหม่หมด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้คือ “การบังเกิดใหม่” ในเรื่องนี้ไม่มีผู้ให้คำปรึกษาที่เป็นมนุษย์ท่านใดจะสามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกินความสามารถและเกินความเข้าใจของมนุษย์ มีเพียงผู้เดียวที่จะทำให้ผู้มารับการปรึกษาได้บังเกิดใหม่อย่างแท้จริง คือ องค์พระวิญญาณบริสุทธิ์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ในการให้คำปรึกษาแต่ละครั้งต้องทำร่วมกับ พระวิญญาณบริสุทธิ์ และ พระคำของพระเจ้า เสมอจะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ (ประยูร ลิมะหุตะเศรณี, 2562)            สติปัญญา สำหรับคริสเตียนแล้วสติปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งสิ้นล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้าเป็นผู้ประทานให้  ชาร์ลส สเปอร์เจี้ยน (Charles Spurgeon อ้างถึงใน, มานาประจำวัน, 2556) ได้เขียนไว้ว่า  “ปัญญาคือความงามแห่งชีวิตอันเกิดขึ้นในเราจากพระหัตถกิจของพระเจ้าเท่านั้น  Is a beauty of life that can only be produced by God’s workmanship in us.” ซึ่งสอดคล้องกับพระธรรมสุภาษิตบทที่  2 ข้อที่ 6  เขียนไว้ว่า “เพราะพระยาห์เวห์ประทานปัญญา และจากพระโอษฐ์ของพระองค์ ความรู้กับความเข้าใจก็ออกมา” การให้การปรึกษานั้นผู้ให้การปรึกษาต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องราวต่าง พอสมควรจึงจะสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ได้
          2.ลักษณะประการที่สอง ที่ปรึกษาแบบคริสเตียน ต้องสามารถประยุกต์ใช้พระวจนะของพระเจ้าได้อย่างถูกต้อง ดังที่เขียนไว้ในพระธรรม 2 ทิโมธี บทที่ 2 ข้อที่ 15 “จงอุตส่าห์ถวายตัวท่านเองที่พระเจ้าทรงรับรองแล้วแด่พระองค์ เป็นคนงานที่ไม่อับอาย สอนพระวจนะแห่งความจริงอย่างถูกต้อง”   เพราะว่าพระวจนะของพระเจ้านั้นมีชีวิตและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ และคมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆ แทงทะลุกระทั่งแยกจิตและวิญญาณ ทั้งข้อกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย(พระธรรมฮีบรู บทที่ 4 ข้อที่ 12) ที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชื่อนั้นต้องอุทิศตัวเองในงานการรับใช้พระเจ้า ด้วยความภาคภูมิใจ  สอนพระวจนะและประยุกต์ใช้พระวจนะของพระเจ้าได้อย่างถูกต้องในการให้คำปรึกษา ซึ่งสอดคล้องกับพระธรรมสุภาษิต บทที่ 15 ข้อที่ 23 ที่เขียนไว้ว่า “คนที่มีคำตอบเหมาะๆ ในปากย่อมยินดี คำเดียวที่ถูกกาลเทศะก็ดีจริงๆ”   จากข้อพระวจนะข้อนี้พูดถึงลักษณะของผู้ที่เป็นผู้ให้คำแนะนำหรือที่ปรึกษาที่ดีจะต้องมีคำตอบที่เหมาะสม ซึ่งสามารถช่วยให้การช่วยเหลือได้ย่อมเป็นที่น่ายินดีแก่ผู้มาขอรับคำปรึกษา และมีคำตอบแม้เพียงแต่คำเดียวที่ถูกกาลเทศะก็ดีจริงๆ  คำว่าเหมาะสม หมายถึง สมควร ควรแก่กรณี  และคำว่าถูกกาลเทศะ หมายถึง ความเหมาะไม่เหมาะเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่จะทำการ
     3. ลักษณะประการที่สาม ที่ปรึกษาแบบคริสเตียน ต้องกอปรด้วยผลของพระวิญญาณ ในพระธรรมกาลาเทีย บทที่ 5 ข้อ 22 เขียนไว้ว่า “ส่วนผลของพระวิญญาณนั้น คือความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดทน ความกรุณา ความดี ความซื่อสัตย์

3.1  มีความรัก  ผู้ให้คำปรึกษาแบบคริสเตียนควรจะต้องมีความรักเกิดขึ้นในใจของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก คือ มีความรักในผู้อื่นหรือคนอื่นพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือเมื่อมีผู้ร้องขอความช่วยเหลือ ดังบัญญัติข้อที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”

3.2 มีความยินดี ผู้ให้คำปรึกษาแบบคริสเตียนควรจะต้องมีความยินดี เต็มใจที่จะให้การปรึกษา

3.3  มีสันติสุข  ผู้ให้คำปรึกษาแบบคริสเตียนควรจะต้องเป็นผู้ที่ใฝ่หาสันติสุขมีจิตใจสงบเยือกเย็น ไม่เป็นคนใจร้อน

3.4  มีความอดทน  ผู้ให้คำปรึกษาแบบคริสเตียนควรจะต้องมีความอดทนสูงพร้อมที่จะอดทนรับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่มีผู้มาขอคำปรึกษา

3.5  มีความกรุณา ผู้ให้คำปรึกษาแบบคริสเตียนควรจะต้องมีความกรุณา คือ มีความเมตตาต่อผู้อื่นให้ความช่วยเหลือด้วยใจจริง

3.6  มีความดี ผู้ให้คำปรึกษาแบบคริสเตียนควรจะต้องวางตนให้อยู่ในคุณความดีที่สามารถเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่ผู้อื่นได้

3.7  มีความซื่อสัตย์ ผู้ให้คำปรึกษาแบบคริสเตียนควรจะต้องความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและต่อผู้ที่มาขอคำปรึกษา สามารถเก็บความลับได้

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ลักษณะที่ปรึกษาแบบคริสเตียนในเบื้องต้นนั้น ควรจะเป็นผู้ที่ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์  และมีสติปัญญาที่มาจากพระเจ้า  สามารถประยุกต์ใช้พระวจนะของพระเจ้าในการให้คำปรึกษาได้อย่างถูกต้อง และกอปรด้วยผลของพระวิญญาณ คือ  มีความรัก ความยินดี มีสันติสุข มีความอดทน มีความกรุณา มีความดี และมีความซื่อสัตย์

 

                                                                                          เอกสารอ้างอิง

ประยูร ลิมะหุตะเศรณี. (2562). พระวิญญาณบริสุทธิ์กับการให้คำปรึกษา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562, จาก                   http://jaisamarnchurch.org/media/articles/holy-spirit-counseling/

พนม เกตุมาน. (2562). การให้คำปรึกษาเด็กที่ประสบภัยพิบัติ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562, จาก http://www.psyclin.co.th/new_page_67.htm

มานาประจำวัน. (2556). ปัญญามาจากไหน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562, จาก  https://thaiodb.org/2013/07/25/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99/

สมาคมพระคริสตธรรมไทย. (2011). พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011. กรุงเทพฯ: สมาคมพระคริสตธรรมไทย

 

 

1 thought on “ลักษณะที่ปรึกษาตามแบบคริสเตียน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *