“การเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ”
ศูนย์วิทยบริการและหอสมุด ซึ่งรับผิดชอบการจัดตั้งชุมชนการปฏิบัติ (CoP) “การเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ” เพื่อจัดการความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการ ได้จัดประชุมเมื่อวันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2561 โดยเชิญสมาชิกของชุมชนมาพบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกและ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการเขียนบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมาร่วมแบ่งปันความรู้จำนวน 3 ท่าน คือ ผศ.พ.อ.หญิง ดร.นงพิมล นิมิตอานันท์, ผศ.ดร.ศากุล ช่างไม้ และ ผศ.ดร.ทิพาต่อสกุลแก้ว ซึ่งในวันดังกล่าวมีสมาชิกสนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 14 คน
สรุปประเด็นความรู้ที่ได้จากการประชุมมีดังนี้
1. การเริ่มต้นเขียนบทความ
จากประเด็น“จะเริ่มต้นเขียนบทความวิชาการอย่างไร”ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน ได้เล่าประสบการณ์และให้ข้อเสนอแนะว่า
อาจารย์ผู้สอนควรเริ่มต้นเขียนบทความวิชาการ จากเรื่องที่สนใจศึกษาหัวข้อที่รับผิดชอบสอนหรือจากประสบการณ์การทำงานประจำที่มีความถนัด โดยนำหัวข้อย่อยที่จะสอนไปค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร เมื่อมีข้อมูลมากพอในการเตรียมการสอนหรือการทำงานแล้วก็ควรนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ต่อโดยนำไปเรียบเรียงเขียนเป็นบทความวิชาการในเรื่องที่ตนสนใจ จะทำให้ได้งานเพิ่มขึ้นอีก 1 ชิ้นงาน ซึ่งเป็นผลงานวิชาการและการค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำวิจัยหรือเตรียมการสอน อาจารย์หรือนักวิจัยควรจะต้องพยายามหาข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อเรียบเรียงเป็นบทความสังเคราะห์วรรณกรรม สังเคราะห์ความรู้จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบSystematic Review จะมีความน่าสนใจมากกว่าและยังนำไปเขียนเป็นบทความวิชาการได้ด้วย
ควรรีบเขียนเป็นบทความวิชาการทันทีเมื่อรวบรวมข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมได้มากพอ อย่าเก็บไว้นานเกินไป จนทำให้ขาดแรงจูงใจในการเขียน
2. การเขียนบทความวิชาการ
ประเด็นอาจารย์บางท่านอาจสับสนระหว่างการเขียนบทความวิชาการกับการเขียนบทความวิจัย ซึ่งมีข้อแนะนำว่า บทความวิชาการเป็นการสังเคราะห์ความรู้ จากการสืบค้นและศึกษาทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่ทันสมัย (ไม่ควรเกิน 10 ปี) หรือที่เรียกว่าIntegrative Review และ Systematic Review ซึ่งเป็นการประมวลข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์และงานวิจัยต่างๆในเรื่องที่สนใจศึกษาและนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลก่อนนำมาเรียบเรียงเขียนเป็นบทความวิชาการ จะทำให้ได้บทความที่น่าสนใจเพราะมีสถิติอ้างอิงจากงานวิจัยหลายเรื่อง
3. การเลือกแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่
ผู้เขียนควรศึกษาแหล่งตีพิมพ์บทความ โดยเลือกวารสารที่เปิดรับบทความตรงกับสาขาวิชา ที่สำคัญคือต้องเป็นวารสารวิชาการที่มีคุณภาพหรืออยู่ในฐานข้อมูล TCI (ศูนย์ดัชนีอ้างอิงวารสารไทย) และปัจจุบันสามารถสืบค้นบทความหรือข้อมูลของวารสารได้จากเว็บไซต์ ThaiJOได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งวารสารที่อยู่ในกลุ่ม 1 ส่วนใหญ่จะมีคิวการตีพิมพ์ยาวมากผู้เขียนจึงต้องวางแผนเวลาการส่งล่วงหน้าเพื่อให้ได้รับการตอบรับการตีพิมพ์ในห้วงเวลาที่ต้องการนับผลงาน โดยเฉพาะบทความวิจัยที่ได้รับทุนจะต้องพยายามหาแหล่งตีพิมพ์ให้ทันตามกรอบเวลาของทุนวิจัยผู้เขียนควรศึกษารูปแบบของการเขียนบทความจากคำแนะนำของแต่ละวารสารเนื่องจากวารสารแต่ละชื่อมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน เพื่อจัดเตรียมต้นฉบับบทความได้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดจะทำให้ไม่เสียเวลาในการแก้ไขและจะได้รับการพิจารณาตีพิมพ์เร็วขึ้น
4. ปัญหาการเขียนและการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษ
กรณีที่ต้องเขียนบทความวิชาการหรือบทความวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ ผู้เขียนควรจะมีที่ปรึกษาหรือ พี่เลี้ยงช่วยตรวจสอบเป็นเบื้องต้นและหาผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบภาษาอังกฤษ (Editing) โดยเจ้าของภาษาซึ่งอาจารย์ ดร.นวปฎล กิตติอมรกุล เสนอแนะว่าหากต้องการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ แต่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานช่วยอ่านหรือแปลบทความอาจจะติดต่อผู้เชี่ยวชาญภายนอกซึ่งเป็น Proof Reading ในนามบริษัทซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก(คำละ 30 สตางค์) และสามารถออกหนังสือรับรองการตรวจสอบได้อีกด้วย สำหรับการหาแหล่งตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศควรศึกษาระเบียบ รูปแบบหรือข้อเสนอแนะในการจัดทำต้นฉบับ (Manuscript Preparation) รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ และติดต่อล่วงหน้าซึ่งบางวารสารอาจจะไม่มีค่าใช้จ่าย
5. การปรับรูปแบบการเขียนบทความในวารสารมหาวิทยาลัยคริสเตียน ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอแนะดังนี้
5.1 รูปแบบการอ้างอิง ควรปรับปรุงคำแนะนำการเตรียมต้นฉบับให้ถูกต้องตามรูปแบบ APA 6th edition รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงตัวอย่างการเขียนอ้างอิงให้ถูกต้องชัดเจน
5.2 ควรกำหนดให้ผู้เขียนระบุ “คำสำคัญ” และ “Keywords” ท้ายบทคัดย่อและ Abstract เหมือนกันทุกเรื่องโดยกำหนดให้มีจำนวนคำ 3-5 คำและกำหนดรูปแบบการพิมพ์ให้มีเครื่องหมาย / คั่นระหว่างคำสำคัญทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษและเรียงลำดับคำสำคัญและ Keywords แต่ละคำให้ตรงกันเพี่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันทุกบทความ
5.3 ควรกำหนดให้มีการระบุหัวข้อการพิทักษ์สิทธิ์ผู้เข้าร่วมวิจัยให้ชัดเจนในบทความวิจัยที่จะตีพิมพ์เผยแพร่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในงานวิจัย
5.4 ควรเพิ่มเติมข้อมูลผู้เขียนหลักหรือผู้รับผิดชอบหลัก (Corresponding author) ใน Footnote หน้าแรกของบทความ ได้แก่ สถานที่ติดต่อหรือ e-mail และหากเป็นบทความจากวิทยานิพนธ์ควรใส่ correspondingของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก
ใส่ความเห็น