การให้คำปรึกษาแก่บุคลากรและนักศึกษาบนพื้นฐานหลักธรรมของคริสตศาสนา

แนวทางการให้คำปรึกษาบนพื้นฐานของหลักธรรมในพระคัมภีร์

ศาสนาจารย์ ดร. พญ. วิจิตรา อัครพิชญธร

อนุศาสก หัวหน้าสำนักศาสนกิจ

          การให้คำปรึกษาเป็นเครื่องมืออันมีค่าที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลให้คนที่ประสบปัญหา  สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาและผ่านพ้นอุปสรรคช่วงวิกฤตของชีวิตไปได้ด้วยตัวของเขาเอง  การให้คำปรึกษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอควรที่ผู้ให้คำปรึกษา  (Counsellor)  พึงปฏิบัติต่อผู้มาขอรับคำปรึกษา  (counselee  หรือ  client)  อย่างเอาใจใส่  เพราะส่วนใหญ่มักมีปัญหาที่ลึกซึ้งเปิดเผยได้ยาก  ผู้มีปัญหามักจะอาย  ทำให้ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความเป็นกันเอง  น่านับถือไว้ใจได้  รักษาความลับได้  มีทัศนคติที่ดี  มีทักษะในการให้คำปรึกษา  และมีความรู้เป็นอย่างดีในเรื่องที่จะให้คำปรึกษา

การให้คำปรึกษาตามหลักการของพระคัมภีร์ต่างกับการให้คำปรึกษาทั่วไปตรงที่มีการรวมเอาการดูแลด้านจิตวิญญาณเข้ามากับการดูแลจิตใจและร่างกาย ทั้งนี้เพื่อจะเสริมสร้างผู้ที่ต้องการการรักษาเยียวยาได้อย่างครบถ้วนเป็นองค์รวม ดังนั้น การให้คำปรึกษาทั่วไปใช้หลักการทางจิตวิทยา โดยเน้นทางจิตบำบัด แต่ ผู้ให้คำปรึกษาตามหลักการของพระคัมภีร์นี้ต้องทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาลด้วย โดยการอธิษฐานเผื่อและอ่านข้อพระคัมภีร์เพื่อหนุนจิตชูใจและหาคำตอบให้กับปัญหาชีวิต บางครั้งก็ต้องนำเข้าสู่การร่วมสามัคคีธรรมกับผู้เชื่อคนอื่นๆ ด้วย

วัตถุประสงค์ในการให้คำปรึกษา

1)  เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาได้พูดระบายความรู้สึกคับข้องใจออกมา  อันจะทำให้เกิดความเข้าใจใน ความหมายของปัญหาและสถานาการณ์นั้นๆ  ได้

2)  เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษา  ในการที่จะวางแผนเผชิญและแก้ไขสถานการณ์ปัญหาของผู้รับคำปรึกษาเองได้

3)  เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาได้รับการหนุนใจจากพระวจนะของพระเจ้าและการอธิษฐานเผื่อโดยผู้ให้คำปรึกษา

 

แนวปฏิบัติในการให้คำปรึกษา (แครบบ์, 2002: 167-182)

ขั้นตอนที่ 1 การระบุถึงความรู้สึกที่เป็นปัญหา

เริ่มบทสนทนาด้วยการพูดถึงความรู้สึกที่เป็นปัญหา เช่น เก็บกด หวั่นไหว กลัว กลุ้มใจ รู้สึกผิด ท้อแท้ หมดอาลัยตายอยาก เหงา ซึ่งมักเป็นอารมณ์เชิงลบ หรืออาจเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เช่น อาชีพการงานที่ติดขัด ครอบครัวที่มีความขัดแย้ง แล้วถามความรู้สึกของเขาที่เกิดขึ้นจากสภาวกรณณ์นั้นเพื่อวิเคราะห์ความรู้สึกที่เป็นปัญหาและหาทางแก้ไข

ขั้นตอนที่ 2 การระบุถึงพฤติกรรมอันนำไปสู่เป้าหมายที่ถูกขัดขวาง

เมื่อทราบความรู้สึกที่เป็นปัญหาแล้ว ก็ค้นหาพฤติกรรมที่นำไปสู่เป้าหมายที่ถูกขัดขวาง แล้วตั้งสมมติฐานที่อาจเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมนั้นอาจเป็นตัวที่ก่อให้เกิดปัญหา หรือค้นหาโดยการรื้อฟื้นความจำในอดีต หรือเล่าความทรงจำในวัยเด็กที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ซึ่งอาจช่วยคลายปมที่เป็นประเด็นปัญหาได้ เช่น รู้สึกกลัวความล้มเหลว เพราะคุณพ่อเคยล้มเหลวในเรื่องนั้น พฤติกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จก็จะมีปัญหา ความรู้สึกที่เกิดคือวิตกกังวล ทำให้เราหาทางแก้ไขได้ตรงจุด

ขั้นตอนที่ 3 การระบุถึงความคิดที่เป็นปัญหา

          เมื่อทราบความรู้สึกของเขาแล้ว ก็ต้องโน้มน้าวให้ผู้ขอรับคำปรึกษารู้ตัวว่ากำลังมีความคิดที่ผิด ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบขึ้น จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนสมมติฐานในใจเสียใหม่ คิดใหม่

 

ขั้นตอนที่ 4 การให้ความเข้าใจถึงความคิดหลักตามแนวพระคัมภีร์

ผู้ให้คำปรึกษาควรนำเสนอวิถีทางตามแนวทางพระคัมภีร์ให้เขาฟังเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของเขาเสียใหม่ให้ถูกต้อง สอนเขาตามหลักความเชื่อคริสเตียน ควรยกข้อพระคัมภีร์สนับสนุน อาจเขียนข้อนั้นลงในกระดาษแข็ง เก็บไว้ในกระเป๋า เพื่อให้เขาอ่านทวนซ้ำเมื่อไรก็ตามที่เกิดความรู้สึกที่เป็นเชิงลบขึ้น

ขั้นตอนที่ 5 การบรรลุความตั้งมั่น

เมื่อเข้าใจถูกต้องตามพระคัมภีร์แล้วก็ต้องตั้งมั่นที่จะยึดตามรากฐานของความจริงที่ได้เรียนรู้มาใหม่ เพราะการมีความคิดที่ถูกนั้นยังไม่พอ เปราะบางเกินไป ต้องมีความตั้งใจที่มั่นคงที่จะประพฤติตามความคิดนั้นด้วย จึงจะเรียกว่า บรรลุความตั้งมั่น

ขั้นตอนที่ 6 การวางแผนและประพฤติตามหลักพระคัมภีร์

ควรแนะนำให้ผู้ขอรับคำปรึกษาจดจำข้อพระคัมภีร์และหลักธรรมในพระคัมภีร์ไว้เตือนใจเสมอเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้โกรธหรือไม่พอใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความคิดใหม่ที่ได้รับการควบคุม เพื่อนำเอาความจริงของพระเจ้ามาทำให้มีอารมณ์ที่มั่นคง ใจเย็น หนักแน่น ไม่โกรธหรือฉุนเฉียวง่ายๆอีก

ขั้นตอนที่ 7 การระบุถึงความรู้สึกที่ควบคุมได้

เมื่อควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ เขาจะมีสันติสุข สงบ ซี่งเป็นผลจากการควบคุมโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เจ้าตัวก็สามารถรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้เพราะเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น เขาจะตอบสนองอย่างสันติและรอมชอมมากกว่าเดิม

อนึ่ง ผู้ให้คำปรึกษาพึงตระหนักในจรรยาบรรณของตนว่า เรื่องที่ปรึกษานั้นเป็นความลับของผู้มาขอคำปรึกษา และไม่ควรแพร่งพรายให้ผู้ใดทราบ ยกเว้นว่าจะได้รับอนุญาตให้เปิดเผยได้

 

เอกสารอ้างอิง

แครบบ์, ลาร์รี่. (2002). การให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพตามพระคัมภีร์, แปลโดย ภัทรา คะนึงไกวัล. กรุงเทพฯ: ทีรันนัส.

3 thoughts on “การให้คำปรึกษาแก่บุคลากรและนักศึกษาบนพื้นฐานหลักธรรมของคริสตศาสนา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *