การเขียนหนังสือราชการ: ที่มาของสาเหตุที่มีหนังสือไป

เราเคยได้พูดถึง สาเหตุของหนังสือ ประกอบด้วย สาเหตุที่ต้องมีหนังสือไป และเรื่องต่อเนื่อง
วันนี้เรามาพูดถึง “ที่มาของสาเหตุที่มีหนังสือไป”

  1. เหตุจากผู้มีหนังสือไป
  2. เหตุจากบุคคลภายนอก
  3. เหตุจากเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้น
  4. เหตุจากผู้รับหนังสือ

 

 

 

เหตุจากผู้มีหนังสือไป

เหตุที่มีหนังสือไป อาจเกิดจาก ผู้มีหนังสือไปเอง โดยผู้มีหนังสือไปมีความประสงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

ตัวอย่าง…    “ด้วยกรมส่งเสริมการเกษตรประสงค์จะรับสิ่งของบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้
           จึงเรียนขอความร่วมมือมาเพื่อโปรดรับบริจาคสิ่งของจากผู้มีจิตศรัทธาแล้วส่งให้กรมส่งเสริมการเกษตรด้วย จะขอบคุณมาก”

ตัวอย่าง…    “ตามหนังสือที่อ้างถึง กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขอความร่วมมือในการบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
          กรมส่งเสริมการเกษตรใคร่จะได้ของบริจาคดังกล่าว ภายในวันที่……….เพื่อจะได้รีบจัดส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน
          จึงเรียนมาเพื่อขอได้โปรดส่งสิ่งของที่รับบริจาคไว้ไปยังกรมส่งเสริมการเกษตรภายในกำหนดดังกล่าวด้วย จะขอบคุณมาก”

พึงสังเกตว่า เหตุที่มีหนังสือไปซึ่งเกิดจากผู้มีหนังสือไปเอง มีได้ทั้งเรื่องใหม่ที่ไม่เคยติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน ซึ่งขึ้นต้น ด้วยคำว่า “ด้วย” หรือ “เนื่องจาก” และมีได้ทั้งเรื่องที่เคยติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า “ตาม” หรือ “ตามที่” หรือ “อนุสนธิ”

เหตุจากบุคคลภายนอก

เหตุที่มีหนังสือไปอาจเกิดจากบุคคลภายนอก โดยบุคคลภายนอกว่า ขอมา หรือ แจ้งความประสงค์มา หรือบุคคลภายนอกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้ต้องมีหนังสือไป เช่น

ตัวอย่าง…    “ด้วยมีผู้ร้องเรียนว่าการส่งสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ล่าช้าไม่ทันการ
          จึงขอได้โปรดกำชับเจ้าหน้าที่ให้รีบเร่งส่งสิ่งของให้ถึงมือผู้ประสบอุทัยภัยโดยเร็วที่สุดด้วย”

ตัวอย่าง…    “ตามที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับว่าการส่งสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ล่าช้าไม่ทันการ นั้น
         กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีหนังสือกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้รีบเร่งส่งสิ่งของให้ถึงมือผู้ประสบอุทกภัยโดยเร็วที่สุดแล้ว
         จึงเรียนมาเพื่อทราบ”

พึงสังเกตว่า เหตุที่มีหนังสือไปซึ่งเกิดจากบุคคลภายนอก มีได้ทั้งเรื่องใหม่ที่ไม่เคยติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน ซึ่งขึ้นต้น ด้วยคำว่า “ด้วย” หรือ “เนื่องจาก” และมีได้ทั้งเรื่องที่เคยติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า “ตาม” หรือ “ตามที่” หรือ “อนุสนธิ”

เหตุจากเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้น

เหตุที่มีหนังสือไป อาจเกิดจากเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องมีหนังสือไป เช่น
ตัวอย่าง…    ด้วยได้เกิดอุทกภัยขึ้นในหลายจังหวัดภาคใต้ เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัยและขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค
          จึงขอให้กรมส่งเสริมการเกษตรรีบส่งเครื่องอุปโภคบริโภคไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าวโดยด่วน”

ตัวอย่าง…    ตามที่ได้เกิดอุทัยภัยขึ้นในหลายจังหวัดภาคใต้ เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย และขาดเครื่องอุปโภคบริโภค นั้น
          กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนหนึ่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว และจะทยอยส่งเพิ่มเติมต่อไปโดยด่วน
          จึงเรียนมาเพื่อทราบ”

พึงสังเกตว่า เหตุที่มีหนังสือไปซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้น มีได้ทั้งเรื่องใหม่ที่ไม่เคยติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า “ด้วย” หรือ “เนื่องจาก” และมีได้ทั้งเรื่องที่เคยติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า “ตาม” หรือ “ตามที่” หรือ “อนุสนธิ”

เหตุจากผู้รับหนังสือ

เหตุที่มีหนังสือไปอาจเกิดจากผู้รับหนังสือนั้นเอง โดยผู้รับหนังสือแจ้งมาหรือขออะไรมาหรือผู้รับหนังสือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องมีหนังสือไป เช่น

ตัวอย่าง…    “ด้วยท่านเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในการสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการ ในกรม………..และถึงลำดับที่ที่จะบรรจุเข้ารับราชการแล้ว
           จึงขอให้ท่านไปรายงานตัว ณ…………ภายในวันที่……………หากท่านมิได้ไปรายงานตัวภายในกำหนดนี้ ถือว่าท่านสละสิทธิ์ในการบรรจุเข้ารับราชการ”

ตัวอย่าง…    “ตามที่ท่านสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการได้ในกรม………………..และแสดงความจำนงจะรับราชการในจังหวัดภาคใต้ นั้น
           บัดนี้ ได้มีคำสั่งบรรจุท่านเข้ารับราชการแล้วในจังหวัด…… ตั้งแต่วันที่……………..เป็นต้นไป
          จึงขอให้ท่านไปรับหนังสือนำตัวจากกรม……………….เพื่อไปรายงานตัวเข้ารับราชการ ณ จังหวัด………..ต่อไป”

พึงสังเกตว่า เหตุที่มีหนังสือไปซึ่งเกิดจากผู้รับหนังสือ มีได้ทั้งเรื่องใหม่ที่ไม่เคยติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า “ด้วย” หรือ “เนื่องจาก” และมีได้ทั้งเรื่องที่เคยติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า “ตาม” หรือ “ตามที่” หรือ “อนุสนธิ”

อ้างอิงจาก :

  1. เทคนิคการเขียนหนังสือราชการ.https://www.opsmoac.go.th/km-km_org_center-files-391991791808[สืบค้นวันที่ 15 พ.ค. 2563]
  2. ศิลปะการเขียนหนังสือราชการ.https://www.opsmoac.go.th/km-km_org_center-files-391991791026 [สืบค้นวันที่ 16 พ.ค. 2563]
  3. การเขียนหนังสือราชการ: ความรู้พื้นฐานในการเขียนหนังสือติดต่อราชการ. (2560). https://www.ocsc.go.th/download/2560/การเขียนหนังสือราชการ-ebook [สืบค้นวันที่ 29 พ.ค. 2563]

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *