เทคนิคที่เหมาะสมต่อการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนขนาดใหญ่

หนึ่งในทฤษฎีการสอนวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม คือเทคนิค 5E ซึ่งเป็นแนวการสอนตามหลักคอนสตรัคติวิสท์ (Constructivist Approach) จัดทำโดย Primary Connections ประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ การมีส่วนร่วม (Engage) การสำรวจ (Explore) การอธิบาย (Explain) การปรับใช้ (Elaborate) และการประเมินผล (Engage) โดยในแต่ละขั้นตอนจะกำหนดทักษะที่คาดหวังในตัวผู้เรียน และกำหนดกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องทำเพื่อให้เกิดทักษะตามที่กำหนด

กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ (แบบ 5 E)

กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
ขั้นสร้างความสนใจ (engagement) เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนหรือเรื่องที่สนใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองจาก ความสงสัย หรืออาจเริ่มจากความสนใจของตัวนักเรียนเองหรือเกิดจากการอภิปรายในกลุ่ม เรื่องที่น่าสนใจอาจมา จากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่เพิ่งเรียนรู้มาแล้ว เป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำถาม กำหนดประเด็นที่จะศึกษา ในกรณีที่ยังไม่มีประเด็นใดน่าสนใจ ครูอาจให้ศึกษาจากสื่อต่าง ๆ หรือเป็นผู้กระตุ้นด้วยการเสนอประเด็นขึ้นมาก่อน แต่ไม่ควรบังคับให้นักเรียนยอมรับประเด็นหรือคำถามที่ครูกำลังสนใจเป็น เรื่องที่จะใช้ศึกษา เมื่อมีคำถามที่น่าสนใจ และนักเรียนส่วนใหญ่ยอมรับให้เป็นประเด็นที่ต้องการศึกษา จึงร่วมกันกำหนดขอบเขตและแจกแจงรายละเอียดของเรื่องที่จะศึกษาให้มีความ ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจรวมทั้งการรวบรวมความรู้ประสบการณ์เดิม หรือความรู้จากแหล่งต่างๆ ที่จะช่วยให้นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องหรือประเด็นที่จะศึกษามากขึ้น และมีแนวทางที่ใช้ในการสำรวจตรวจสอบอย่างหลากหลาย

ขั้นสำรวจและค้นหา (exploration) เมื่อทำความเข้าใจในประเด็นหรือคำถามที่สนใจจะศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็มีการวางแผนกำหนดแนวทางการสำรวจตรวจสอบ ตั้งสมมติฐาน กำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้ ลงมือปฏิบัติเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อสนเทศ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ วิธิการตรวสอบอาจทำได้หลายวิธี เช่น ทำการทดลอง ทำกิจกรรมภาคสนาม การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยสร้างสถานการณ์จำลอง (simulation) การศึกษาหาข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงหรือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้ในขั้นต่อไป

ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (explanation) เมื่อได้ข้อมูลอย่างเพียงพอจากการสำรวจตรวจสอบแล้ว จึงนำข้อมูล ข้อสนเทศ ที่ได้มาวิเคราะห์ แปลผล สรุปผล และนำเสนอผลที่ได้ในรูปต่าง ๆ เช่น บรรยายสรุป สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หรือวาดรูป สร้างตาราง ฯลฯ การค้นพบในขั้นนี้อาจเป็นไปได้หลายทาง เช่น สนับสนุนสมมติฐานที่ตั้งไว้ โต้แย้งกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรือไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ได้กำหนดไว้ แต่ผลที่ได้จะอยู่ในรูปใดก็สามารถสร้างความรู้และช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้

ขั้นขยายความรู้ (elaboration) เป็นการนำความรู้ที่สร้างขึ้นไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือแนวคิดที่ได้ค้น คว้าเพิ่มเติม หรือนำแบบจำลองหรือข้อสรุปที่ได้ไปใช้อธิบายสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ถ้าใช้อธิบายเรื่องต่างๆ ได้มาก็แสดงว่าข้อจำกัดน้อย ซึ่งก็จะช่วยให้เชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆ และทำให้เกิดความรู้กว้างขวางขึ้น

ขั้นประเมิน (evaluation) เป็นการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่างๆ ว่านักเรียนมีความรู้อะไรบ้าง อย่างไร และมากน้อยเพียงใด จากขั้นนี้จะนำไปสู่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ

การ นำความรู้หรือแบบจำลองไปใช้อธิบายหรือประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์หรือเรื่อง อื่นๆ จะนำไปสู่ข้อโต้แย้งหรือข้อจำกัดซึ่งก่อให้เป็นประเด็นหรือคำถาม หรือปัญหาที่จะต้องสำรวจตรวจสอบต่อไป ทำให้เกิดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จึงเรียกว่า inquiry cycle กระบวนการสืบเสาะหาความรู้จึงช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งเนื้อหา หลักและหลักการ ทฤษฎี ตลอดจนการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ได้ความรู้ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ต่อไป

ที่มา: หนังสือการจัดสาระการเรียนรู้กลุ่มวิทยาศาสตร์หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

3 Replies to “เทคนิคที่เหมาะสมต่อการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนขนาดใหญ่”

  1. เป็นเทคนิคที่น่าสนใจ แต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับบางรายวิชาที่เน้นการบรรยายเป็นหลัก

  2. แชร์ความเห็นจากที่ผมเคยสอนพิเศษนักเรียนม.ปลายในสถาบันแล้วกันนะครับเพราะก็เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ และสิ่งสำคัญคือต้องทำให้เด็ก”ติด” อยากจะเรียนกับเราอีกเรื่อยๆนะครับ โดยพื้นฐานแล้วการสอนวิชาบรรยายเช่นชีววิทยา เด็กมักจะหลับหรือรู้สึกเบื่อภายในเวลาไม่เกินสี่สิบนาที ดังนั้นเราต้องหาวิธีที่ทำให้เด็กอยู่กับเราโดยไม่หลับหหรือเบื่อดังนี้ครับ

    1.เราต้องประเมินเด็กถ้าเด็กอ่อนหรือปานกลาง ควรพักสิบห้านาทีในทุกๆหนึ่งหรือหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
    2.การสอนอย่านั่งอยู่กับเก้าอี้ แนะนำให้ออกมาเดินบ้าง ไม่ใช่ออกไปเดินจี้เด็ก แต่เด็กจะมองตามอาจารย์แล้วทำให้เด็กมี activity โดยการมองตาม จะช่วยปลุกให้เด็กไม่เหม่อและง่วง
    3.มีอารมณ์ขันบ้าง พยายามยกตัวอย่างจากบทเรียนที่เราพบในชีวิตประจำวัน เด็กจะสนุกและได้จินตนาการไปกับเรา
    4.ชีทหรือ power point อย่าใส่เนื้อหาจนเต็ม กั๊กไว้บ้างให้เด็กได้จดเพิ่ม ไม่งั้นเด็กจะรู้สึกว่าอ่านเองก็ได้ และรู้สึกตื่นเต้นว่ามีอะไรที่สำคัญควรรู้นอกเหนือจากในชีท
    5.ให้กำลังใจเด็ก ในกลุ่มเด็กเรียนไม่ดีมักขาดความมั่นใจ ต้องสอดแทรกให้กำลังใจเป็นระยะ พูดให้รู้สึกว่าเขามีความสำคัญและทำได้ไม่ต่างจากเพื่อนๆที่เรียนเก่งถ้าเขาพยายาม ดุนิสิตเวลาคุยได้ แต่อย่าพูดถากถางจะทำให้กลุ่มเด็กเกิดการต่อต้านไม่อยากเข้าเรียน

    และสุดท้ายผมจะคิดเสมอว่า”ให้นึกถึงสมัยเราเป็นนิสิตป.ตรี เราไม่ชอบอ.แบบไหน ก็อย่าได้ทำแบบนั้นกับลูกศิษย์ของเราเอง”

    ก็เป็นการแชร์ประสบการณ์สั้นๆหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *