การแทรกหน้าเพิ่มบนไฟล์ PDF ด้วยโปรแกรม Foxit

1.เปิดไฟล์ PDF ขึ้นมาด้วยโปรแกรม Foxit PhantomPDF

2.เลือกหน้าที่ต้องการแทรกหน้าเพิ่ม ให้คลิ๊กเมาส์ขวา> Insert Page…> Form Files… > กด Open

3.เลือกไฟล์ PDF ที่ต้องการเพิ่ม

4.เลือก Insert To > กด OK

5.ตามภาพเลือก Before Page 2 จะปรากฏไฟล์ดังภาพ ทำการบันทึกไฟล์ที่จัดทำเรียบร้อยแล้ว

การพิมพ์ข้อความบนไฟล์ PDF

งานเอกสารปัจจุบันจำเป็นต้องจัดทำเอกสารในรูปแบบ PDF ไฟล์ ก็ด้วยคุณสมบัติของเอกสาร PDF คือ แก้ไขไม่ได้และรักษารูปแบบของเอกสารต้นฉบับเดิมไว้ได้อย่างดี ดังนั้นเอกสารหลายชนิดที่ต้องการให้ผู้รับได้รับเอกสารที่ไม่ผิดเพี๊ยนไปจากต้นฉบับเดิม และไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาได้เพื่อให้ผู้รับเอกสารสามารถนำไปเปิดดูได้เท่านั้น เราจึงจัดทำเอกสารเหล่านั้นเป็นรูปแบบ PDFไฟล์

เมื่อเราได้รับเอกสารแล้ว แต่เราต้องการกรอกข้อมูลในเอกสารที่เป็น PDFไฟล์ โดยไม่อยากเขียนด้วยลายมือของเรา เพราะจะไม่สวยงาม เราสามารถทำได้ง่ายๆ ตามนี้ค่ะ

โดยผู้โพสต์ใช้โปรแกรม Foxit PhantomPDF 7.0 ในการจัดทำนะคะ

1. เปิดเอกสารที่ต้องการพิมพ์

2. คลิกเลือกเมนู Home  คลิกไอคอน Typewriter  
….แนะนำให้ใช้ไอคอนนี้ค่ะ เพราะสามารถปรับเปลี่ยนฟอนต์ตัวอักษรและขนาดได้ง่าย….

3. คลิกบริเวณที่ต้องการพิมพ์ข้อความ

4. ปรับฟอนต์อักษร และขนาดอักษรตามที่ต้องการ โดยดาร์กดำที่ข้อความที่ต้องการแก้ไข จะปรากฎเมนูตามรูป

5. ข้อความที่ไม่ต้องการ และต้องการทำเส้นขีดทับ คลิกที่เมนู Home และคลิกไอคอน Select Text แล้วดาร์กดำที่ข้อความ 

วิธีนี้ใช้ได้กับเอกสารที่แปลงไฟล์ต้นฉบับจาก Word เป็น PDF สำหรับไฟล์ต้นฉบับที่มาจากรูปภาพ สามารถทำได้โดยการลากเส้นขีดทับเองค่ะ โดยไปที่เมนู Edit คลิกไอคอน Add Shapes ค่ะ

6. คลิกไอคอน Strikeout    จะปรากฎเส้นขีดทับตามภาพ

เมื่อจัดพิมพ์ข้อมูลเรียบร้อยตามต้องการแล้ว ก็ทำการพิมพ์เอกสารได้เล๊ยย หรือต้องการบันทึกไฟล์ไว้ใช้ต่อก็สามารถบันทึก (Save) ไว้ได้เลยคะ

ผู้โพสต์หวังว่าวิธีนี้คงจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่ต้องการกรอกข้อมูลในเอกสาร แต่ไม่รู้จะทำยังไงนะคะ 🙂

อ้างอิงจาก
เกร็ดความรู้เอกสารPDF (Portable Document Format) คืออะไร. http://www.songtham.ac.th/managefiles/file/alisa/pdffile.pdf .ศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีสารสนเทศ วัดทรงธรรม. [สืบค้น 25-3-64]

คู่มือวิธีใช้ระบบงานสารบรรณ (ฉบับปรับปรุง)

กลุ่มงานสารบรรณได้ปรับแก้ไขคู่มือวิธีใช้งานระบบงานสารบรรณใหม่ สมาชิกทุกท่านสามารถ Download ได้นะคะ

หนังสือเวียน

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน

หนังสือเวียน

น. หนังสือราชการที่มีข้อความเหมือนกัน ส่งไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรหัสตัวพยัญชนะ ว หน้าเลขทะเบียนหนังสือส่ง ภาษาปากใช้ว่า จดหมายเวียน หนังสือที่ผู้บังคับบัญชาเวียนแจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับทราบหรือถือปฏิบัติ.

 ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร

หนังสือเวียน

น. หนังสือที่แจ้งให้ผู้ทำงานร่วมกันทราบ.

หนังสือเวียน คือ หนังสือที่มีถึงผู้รับเป็นจำนวนมาก มีใจความอย่างเดียวกัน (หมายถึงต้องไม่แก้ไขเนื้อความของหนังสือไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของหนังสือก็ตาม) โดยให้เพิ่มรหัสพยัญชนะ ว หน้าเลขทะเบียนหนังสือส่ง ซึ่งกำหนดเป็นเลขที่หนังสือเวียนโดยเฉพาะ เริ่มตั้งแต่เลข 1 เรียงเป็นลำดับไปจนถึงสิ้นปีปฏิทิน หรือใช้เลขที่ของหนังสือทั่วไปตามแบบหนังสือภายนอกอย่างหนึ่งอย่างใด

สำหรับมหาวิทยาลัยฯ ใช้เลขที่ของหนังสือทั่วไปตามแบบหนังสือภายนอกและเลขที่หนังสือเวียนโดยเฉพาะ เริ่มตั้งแต่เลข 1 เรียงเป็นลำดับไปจนถึงสิ้นปีปฏิทิน

 ตัวอย่าง
               ม.คต.01/0011/2564 ว1
อ้างอิงจาก

1.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2548 .[สืบค้นวันที่ 11 มกราคม 2564]
2.คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. http://med.swu.ac.th/administration/index.php?option=com_content&view=article&id=156:2019-01-31-08-17-03&catid=14&Itemid=435 .[สืบค้นวันที่ 18 มกราคม 2564]

การเขียนหนังสือราชการ : การลงชื่อแทน (จดหมาย)

การลงชื่อในท้ายจดหมาย

รักษาการแทน  ใช้ในกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติการได้

ปฏิบัติราชการแทน  ใช้ในกรณีมอบอำนาจโดยทำหนังสือ (คำสั่ง)  ให้ปฏิบัติการแทน ในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ในเรื่องใดและไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น กำหนดเรื่องการมอบอำนาจให้เป็นอย่างอื่นหรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ โดยอธิบดีเป็นผู้ลงนาม หนังสือคำสั่งมอบอำนาจ

ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ของเราใช้ “ปฏิบัติการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียน” ลงในหนังสือ (จดหมาย) เพื่อส่งติดต่อส่วนงานภายนอก

อ้างอิง

  1. http://kmcenter.rid.go.th/kclaw/news_ins_doc/pppdf [สืบค้นวันที่ 15 ธ.ค. 2563]
  2. http://www.meeboard.com/users/fpo_uttaradit/imgupload/5-21.pdf [สืบค้นวันที่ 15 ธ.ค. 2563]
  3. https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/582169. [สืบค้นวันที่ 15 ธ.ค. 2563]

การเขียนท้ายเรื่อง

โครงสร้างหนังสือภายนอก (หนังสือติดต่อราชการ) ประกอบด้วย 4 ส่วน

ในส่วน “ท้ายเรื่อง” ของหนังสือติดต่อราชการที่ผู้ร่างหนังสือจะต้องเขียนก็มีเพียงรายการเดียวคือ “คำลงท้าย” ของหนังสือภายนอก สำหรับหนังสือภายในและหนังสือประทับตราไม่มี “คำลงท้าย” คำลงท้ายของหนังสือภายนอก ใช้ตามฐานะของผู้รับหนังสือ “คำลงท้าย” ของหนังสือภายนอกตามฐานะของผู้รับหนังสือตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ คือ

โดยทั่วไปใช้ว่า “ขอแสดงความนับถือ”

เว้นแต่

1.หนังสือถึงผู้ดำรงตำแหน่งสูงเป็นพิเศษ ได้แก่ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และรัฐบุรุษ ใช้คำลงท้ายว่า “ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง”
2.หนังสือถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ใช้คำลงท้ายตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงาน สารบรรณ (โปรดดูระเบียบนั้น)
3.หนังสือถึงพระภิกษุ ใช้คำลงท้ายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (โปรดดูระเบียบนั้น)

ตัวอย่างการเขียนคำลงท้ายหนังสือ

— ผู้ดำรงตำแหน่งสูงพิเศษ 14 ตำแหน่ง    »    ขอแสงดความนับถืออย่างยิ่ง
— บุคคลทั่วไป                                              »     ขอแสดงความนับถือ
— สมเด็จพระสังฆราช                                  »    ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
— พระทั่วไป                                                 »     ขอนมัสการด้วยความเคารพ

อ้างอิงจาก :

  1. การเขียนหนังสือราชการ: ความรู้พื้นฐานในการเขียนหนังสือติดต่อราชการ. (2560). https://www.ocsc.go.th/download/2560/การเขียนหนังสือราชการ-ebook [สืบค้นวันที่ 15 ต.ค. 2563]
  2. เทคนิคการเขียนหนังสือราชการ . https://www.ubu.ac.th/web/files_up/82f2017060810445660.pdf [สืบค้นวันที่ 15 ต.ค. 2563]
  3. การเขียนหนังสือติดต่อราชการ. (2549).https://www.srisangworn.go.th/modules.php?op=modload&name=News&file=article&sid=405 [สืบค้นวันที่ 26 ต.ค. 2563]

การเขียนหนังสือราชการให้ถูกต้องในเนื้อหา

การจะเขียนให้ถูกต้องในเนื้อหานั้น ถ้าเป็นเรื่องง่ายๆ ก็อาจไม่ต้องเตรียมอะไรมากเพียงคิดวิเคราะห์เล็กน้อยว่า เป็นเรื่องอะไร มีจุดประสงค์อย่างไ ก็สามารถเขียนให้ถูกต้องในเนื้อหาได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องยาก ก็จำเป็นต้องเตรียมการก่อนลงมือเขียน โดย
-ศึกษาเรื่อง
-จบประเด็นเรื่อง
-ย่อเรื่อง

1 การศึกษาเรื่อง
1.1 จุดมุ่งหมายในการศึกษาเรื่อง ผู้ร่างต้องศึกษาเรื่องให้ละเอียด และเข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญความเป็นมาและเป็นไปของเรื่อง เพื่อจะได้เขียนหนังสือติดต่อให้ถูกต้องตรงตามเนื้อหาสาระของเรื่อง
1.2 เทคนิคในการศึกษาเรื่อง การศึกษาเรื่องให้ได้ความสมบูรณ์เพื่อจะเขียนหนังสือติดต่อได้เป็นอย่างดีนั้น จะต้องใช้ทั้ง ตา ปาก หู หัวใจ และมือ ในการศึกษา กล่าวคือ

2 การจับประเด็นของเรื่อง
ประเด็นของเรื่อง คือ จุดสำคัญอันเป็นแก่นแท้ของเรื่องนั้นที่จะต้องเขียนถึงผู้รับหนังสือ ประเด็นของเรื่องในหนังสือติดต่อราชการจะประกอบด้วย
– เหตุที่มีหนังสือไป
– จุดประสงค์ที่มีหนังสือไป
 
3 การย่อเรื่อง
การย่อเรื่อง คือการสรุปความที่เป็นเนื้อหาสาระ และที่เกี่ยวกับประเด็นซึ่งอ้างเป็นเหตุให้ต้องมีหนังสือไป ทั้งนี้เพื่อจะได้นำไปเขียนในส่วน “เนื้อเรื่อง” ได้ถูกต้องและมีเนื้อหาที่กะทัดรัด

อ้างอิงจาก :

เทคนิคการเขียนหนังสือราชการ . https://www.ubu.ac.th/web/files_up/82f2017060810445660.pdf [สืบค้นวันที่ 14 ส.ค. 2563]

การเขียนหนังสือติดต่อราชการ: การเขียนจุดประสงค์ของเรื่อง

ลักษณะของ จุดประสงค์ ของเรื่อง

ในโครงสร้างของหน้งสือติดต่อราชการจะมีสิ่งสำคัญคือ “ข้อความ” ได้แก่ ส่วนที่เป็น “เนื้อเรื่อง” กับส่วนที่เป็น “จุดประสงค์ของเรื่อง”

“จุดประสงค์ของเรื่อง ” จึงเป็นเหตุของ “เนื้อเรื่อง”

โดย “จุดประสงค์ของเรื่อง” จึงมักเขียนคำว่า “จึง……..”  ทั้งนี้ โดยเขียนย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ เป็นคนละตอนกับ “เนื้อเรื่อง”

โครงสร้างของหนังสือราชการ ส่วนที่ 3 จุดประสงค์ที่มีหนังสือไป
เนื้อความจะกล่าวถึงจุดประสงค์ของหนังสือราชการฉบับนั้น ซึ่งจะต้องเขียนให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้รับหนังสือทราบว่า ผู้เขียนมีจุดประสงค์อย่างไร ในกรณีที่มีจุดประสงค์หลายประการ ควรแยกจุดประสงค์เป็นรายข้ออย่างชัดเจน เพื่อให้มีความสะดวกต่อการทําความเข้าใจและการนําไปปฏิบัติ

  

จุดประสงค์ที่มีหนังสือไป อาจมีลักษณะและความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
ลักษณะ ความมุ่งหมาย
คําแจ้ง เพื่อทราบ เพื่อให้พิจารณา เพื่ออนุมัติ เพื่อให้ดําเนินการ เพื่อให้ความร่วมมือเพื่อถือปฏิบัติ
คําขอ เพื่อพิจารณา เพื่อให้ช่วยเหลือ เพื่อให้ความร่วมมือ เพื่อให้ดําเนินการ
คําซักซ้อม เพื่อให้เข้าใจ
คํายืนยัน เพื่อให้แน่ใจ
คําสั่ง เพื่อให้ปฏิบัติ
คําเตือน เพื่อไม่ให้ลืมที่จะปฏิบัติ
คํากําซับ เพื่อให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความระมัดระวัง
คําถาม เพื่อขอทราบคําตอบ
คําหารือ เพื่อขอความเห็น

ย่อหน้าที่ 3 ควรเป็นประโยคสั้นๆ เป็นบทสรุป เน้นย้ำ หรือขอบคุณ ไม่ควรมีเนื้อหาสำคัญอยู่ในส่วนนี้อีก

อ้างอิงจาก :
1. การเขียนหนังสือราชการ: ความรู้พื้นฐานในการเขียนหนังสือติดต่อราชการ. (2560). https://www.ocsc.go.th/download/2560/การเขียนหนังสือราชการ-ebook [สืบค้นวันที่ 12 มิ.ย. 2563]
2. เทคนิคการเขียนหนังสือราชการ.https://www.opsmoac.go.th/km-km_org_center-files-391991791808 [สืบค้นวันที่ 13 มิ.ย. 2563]

การเริ่มต้นโดยใช้คำว่า “ตาม” “ตามที่” หรือ “อนุสนธิ”

การใช้คำว่า “ตาม” “ตามที่” หรือ  “อนุสนธิ”
จะใช้ในกรณีใด

“ตาม” “ตามที่” หรือ “อนุสนธิ” ใช้ในกรณีที่เคยมีเรื่องติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน

ตัวอย่าง…ตามหนังสือที่อ้างถึง กรมส่งเสริมการเกษตรขอใช้ห้องฝึกอบรมของกรมวิชาการเกษตร เพื่อจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการเขียนหนังสือราชการระหว่างวันที่…………..นั้น 
                  กรมวิชาการเกษตร ยินดีให้กรมส่งเสริมการเกษตรใช้ห้องฝึกอบรมตามที่ขอไป

ตัวอย่าง… ตามที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า…………………………………………………นั้น
                    กรม…..ได้สอบสวนแล้ว ปรากฎว่าไม่มีมูลความจริงตามที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวแต่ประการใด

ตัวอย่าง… อนุสนธิมติ ก.พ. ในการประชุมครั้งที่……เมื่อวันที่…………….มอบให้ท่านรับเรื่อง………..ไปตรวจพิจารณาเสนอความเห็น นั้น

                    บัดนี้ เวลาล่วงเลยมานานแล้ว สำนักงาน ก.พ. ยังไม่ได้รับความเห็นของท่านในเรื่องดังกล่าว จึง…………………..

 

ที่มา: 1. การเขียนหนังสือราชการ: ความรู้พื้นฐานในการเขียนหนังสือติดต่อราชการ. (2560). https://www.ocsc.go.th/download/2560/การเขียนหนังสือราชการ-ebook [สืบค้นวันที่ 28 เมษายน 2563]
2. ศิลปะการเขียนหนังสือราชการ.https://www.opsmoac.go.th/km-km_org_center-files-391991791026 [สืบค้นวันที่ 29 เมษายน 2563]